ฟิลเลอร์เกจ (Feeler Gauge) สำคัญอย่างไรในอุตสาหกรรม
![](https://tpacal.or.th/wp-content/uploads/2025/02/feeler-gauge-JPG-1024x1024.jpg)
ฟิลเลอร์เกจ (Feeler Gauge) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวัดระยะห่างหรือช่องว่างระหว่างสองพื้นผิวหรือชิ้นส่วนเครื่องจักร โดยทั่วไปฟิลเลอร์เกจจะประกอบไปด้วยแผ่นโลหะบางหลายแผ่นที่มีความหนาต่างกัน แต่ละแผ่นมักจะมีการบอกค่าความหนาที่ระบุไว้บนแผ่นเพื่อสะดวกในการใช้งาน
การใช้งานฟิลเลอร์เกจมักจะพบในงานที่ต้องการความแม่นยำสูง เช่น การตั้งระยะห่างของวาล์วในเครื่องยนต์ หรือ การตรวจสอบระยะห่างของชิ้นส่วนในงานวิศวกรรม และการซ่อมบำรุง ซึ่งมีความสำคัญในการตรวจสอบ ควบคุมการทำงาน เพื่อป้องกันไม่ให้การทำงานเกิดความผิดพลาด ทำให้สามารถควบคุมคุณภาพและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้
ฟิลเลอร์เกจมีขนาดหลากหลายเพื่อให้สามารถใช้งานได้ตามความต้องการของงานต่างๆ ตัวอย่างเช่น
0.02 มิลลิเมตร
0.05 มิลลิเมตร
0.10 มิลลิเมตร
0.20 มิลลิเมตร
0.50 มิลลิเมตร
1.00 มิลลิเมตร
2.00 มิลลิเมตร
3.00 มิลลิเมตร
วิธีการวัด
การใช้ฟิลเลอร์เกจ (Feeler Gauge) เพื่อวัดระยะห่างหรือช่องว่างระหว่างพื้นผิว สามารถทำได้ตามขั้นตอนดังนี้
1. เลือกแผ่นฟิลเลอร์เกจที่มีความหนาตามต้องการ ดูค่าความหนาที่ระบุไว้บนแผ่น และเลือกแผ่นที่มีความหนาที่คาดว่าจะใกล้เคียงกับช่องว่างที่ต้องการวัด
2. สอดแผ่นฟิลเลอร์เกจเข้าไปในช่องว่างพยายามสอดแผ่นฟิลเลอร์เกจเข้าไปในช่องว่างระหว่างพื้นผิวสองชิ้น หากสามารถสอดเข้าไปได้โดยง่าย ความหนาของแผ่นฟิลเลอร์เกจอาจจะบางเกินไป หรือถ้าไม่สามารถสอดเข้าไปได้เลย แสดงว่าความหนาของแผ่นฟิลเลอร์เกจอาจจะหนาเกินไป
3. ปรับเปลี่ยนขนาดแผ่นฟิลเลอร์เกจจนได้ความหนาที่เหมาะสมโดยสอดแผ่นฟิลเลอร์เกจที่มีความหนาต่าง ๆ จนกระทั่งเจอแผ่นที่สามารถสอดเข้าไปได้อย่างพอดี โดยไม่มีความแน่นหรือหลวมเกินไป
4. ตรวจสอบความหนาที่เหมาะสมเมื่อพบแผ่นที่สามารถสอดเข้าไปได้อย่างพอดีแล้ว ค่าความหนาที่ระบุบนแผ่นนั้นคือระยะห่างหรือช่องว่างที่คุณต้องการวัด
การสอบเทียบฟิลเลอร์เกจ Feeler Gauge
เป็นกระบวนการที่สำคัญเพื่อให้แน่ใจว่าฟิลเลอร์เกจมีความถูกต้องและแม่นยำในการวัด ซึ่งสามารถทำได้ตามขั้นตอนดังนี้
1. เตรียมเครื่องมือสอบเทียบ หรือเครื่องมือวัดความหนาที่มีความแม่นยำสูงในการตรวจสอบความหนาของแผ่นฟิลเลอร์เกจ โดยทั่วไปจะแป็นแบบ 1 Probe หรือ 2 Probe, โดยแบบ 1 Probe จะต้องพิจารณาค่าความโก่งของแผ่น ฟิลเล่อร์เกจด้วย
2. ตรวจสอบค่าความหนาโดยวัดความหนาของแผ่นฟิลเลอร์เกจแต่ละแผ่น ตามคู่มือวิธีการปฏิบัติงาน โดยอ้างอิงกับค่าที่ระบุไว้บนแผ่นฟิลเลอร์เกจ
3. บันทึกค่าความหนาที่วัดได้ และเปรียบเทียบกับค่าที่ระบุบนแผ่นฟิลเลอร์เกจ ว่าความหนาเป็นไปตามเกณฑ์คุณภาพหรือไม่
4. ดำเนินการสอบเทียบเป็นประจำตามแผนคุณภาพเพื่อให้มั่นใจว่าแผ่นฟิลเลอร์เกจที่ใช้งานมีค่าความแม่นยำ ถูกต้องและเหมาะสม โดยทั่วไปจะทำทุก 6 เดือนหรือตามคำแนะนำของผู้ผลิต
คำแนะนำการดูแลรักษา และข้อควรระมัดระวังในการใช้งาน Feeler Gauge
เพื่อให้ฟิลเลอร์เกจ (Feeler Gauge) ของคุณมีอายุการใช้งานที่ยาวนานและคงความแม่นยำ มาดูเคล็ดลับการดูแลรักษาและข้อควรระมัดระวังในการใช้งานกัน
- คำแนะนำการดูแลรักษา Feeler Gauge
1. ทำความสะอาดหลังการใช้งาน
2. เก็บรักษาในที่แห้ง และปราศจากความชื้น
3. ทาปิโตเลี่ยมเจล บางๆ บนแผ่นฟิลเลอร์เกจเพื่อป้องกันการเกิดสนิม
4. จัดเก็บฟิลเลอร์เกจในกล่องหรือซองที่มีการบุเพื่อป้องกันการกระแทกและการบิดงอ
5. ทำการตรวจสอบและสอบเทียบฟิลเลอร์เกจเป็นประจำเพื่อให้แน่ใจว่าเครื่องมือยังคงมีความแม่นยำ
- ข้อควรระมัดระวังในการใช้งาน Feeler Gauge
1. อย่าใช้แรงมากเกินไป อาจทำให้ฉีกขาดได้
2. หลีกเลี่ยงการใช้งานในสภาพแวดล้อมที่รุนแรง
3. ไม่ควรใช้ฟิลเลอร์เกจผิดวัตถุประสงค์
4. ตรวจสอบความหนาและสภาพก่อนใช้งาน
โดยสายงานบริการ 3 สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท “ มีให้บริการสอบเทียบเครื่องมือ Feeler Gauge ในย่านการวัด 0.01 mm to 3 mm ” ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการรับรองความสามารถตามมาตรฐานห้องปฏิบัติการ ISO/IEC 17025 ประสบการณ์การสอบเทียบที่มากกว่า 50 ปี
โดยผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Line Official: @TPACAL
โทร. 02-717-3000 ต่อ 82
Email: [email protected]
www. tpacal.or.th